แม่ทัพภาคที่ 2 ร่วมพิธีเปิด แม่ทัพน้อยที่ 2 เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังร่วม/ผสมนานาชาติ ในพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ 2025 ห้วง 24 ก.พ. - 7 มี.ค.68 เพื่อพัฒนาขีดความสามารถกำลังพล เสริมสร้างความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก . พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด นาย โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค (Robert F. Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย GEN Ronald Clark ผู้บัญชาการกองกำลังทางบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดการฝึกร่วม/ผสม คอบร้าโกลด์ 2025 ณ ลานอเนกประสงค์ สโมสรร่วมเริงไชย กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยมีเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย อัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย อุปทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย อัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย พลโท บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2 และพลโท พรชัย มาหลิน แม่ทัพน้อยที่ 2 เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังร่วม/ผสมนานาชาติ เข้าร่วมพิธีฯ . สำหรับกองทัพภาคที่ 2 จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกเป็นส่วน บก.กกล.ร่วม/ผสม นานาชาติ (MNF) และ กองพลทหารราบที่ 6 จัดตั้ง บก.กกล.ทบ.ผสม (CARFOR) . การฝึกคอบร้าโกลด์ เป็นการฝึกร่วม/ผสม ทางทหารขนาดใหญ่และมีประวัติยาวนานที่สุดการฝึกหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี การฝึกร่วม/ผสม คอบร้าโกลด์ 2025 ในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 44 โดยมีประเทศเข้าร่วมการฝึกหลัก จำนวน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย, สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และอินเดีย ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในการฝึกการควบคุมและบังคับบัญชา คือ ออสเตรเลีย สำหรับกลุ่มประเทศที่หมุนเวียนเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ ประเทศในโครงการเสนาธิการผสม . ส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) จำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, มองโกเลีย, เนปาล, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์, ฟิจิ, สหราชอาณาจักร และอิตาลี และประเทศที่เข้าร่วมในโครงการสังเกตการณ์ฝึก (Combined Observer Liaison Team) : COLT) จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, ปากีสถาน, เวียดนาม, เยอรมนี, สวีเดน, คูเวต, บราซิล, บรูไน และติมอร์-เลสเต รวมทั้งสิ้น 30 ประเทศ ผู้เข้าร่วมการฝึกฯ จำนวน 8,194 นาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึกฯ และเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการอำนวยการยุทธ์ร่วมและผสม โดยการประยุกต์ใช้กำลังรบในสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ อีกทั้งเพื่อฝึกการใช้ระเบียบปฏิบัติประจำกองกำลังผสมนานาชาติ โดยกำหนดการฝึกหลัก ระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึง 7 มีนาคม 2568 ประกอบด้วย การฝึกที่สำคัญดังนี้ 1. การฝึกการควบคุมบังคับบัญชา (Command and Control Exercise : C2X) ระหว่าง 24 กุมภาพันธ์ ถึง 7 มีนาคม 2568 เป็นวงรอบการฝึกฝ่ายเสนาธิการ (STAFF Exercise : STAFFEX) การฝึกฝ่ายเสนาธิการ ตามกระบวนการ Military Decision Making Process-Multinational (MDMP-M) มุ่งเน้นการปฏิบัติการในทุกมิติ (All Domain Operations) ผนวกการฝึกในด้านห้วงอวกาศ (Space) และทางไซเบอร์ (Cyber) เข้าร่วมกับการฝึกในมิติอื่นๆ ดำเนินการฝึก โดย กองทัพบก (กองทัพภาคที่ 2) จัดตั้งกองบัญชาการกองกำลังร่วม/ผสมนานาชาติ (Multi National Forces : MNF HQs.) ร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ และมิตรประเทศ ณ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา โดยมี พลโท พรชัย มาหลิน แม่ทัพน้อยที่ 2 เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังร่วม/ผสมนานาชาติ 2. โครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance : HCA) ระหว่าง 6 กุมภาพันธ์ ถึง 7 มีนาคม 2568 1) โครงการก่อสร้าง (Engineer Civic Assistance Program : ENCAP) การก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์โครงการช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 1 และ กองทัพภาคที่ 2 จำนวน 5 โครงการ 2) การฝึกการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (Humanitarian Assistance and Disaster Relief : HADR) ระหว่าง 18 ถึง 21 กุมภาพันธ์ 2568 ประกอบด้วย 2.1 การฝึกการแก้ปัญหาบนโต๊ะด้านบรรเทาสาธารณภัย (HADR TTX) ณ พื้นที่จังหวัดชลบุรี 2.2 การสาธิตการฝึกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย (HADR DEMO) ณ ศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จังหวัดฉะเชิงเทรา มีขอบเขตการฝึกปฏิบัติการด้าน HADR ตามกลไกการประสานงานพลเรือน-ทหาร และการสนับสนุนจากนานาชาติ รูปแบบการฝึกเป็นการฝึกภาคสนาม 4 วัน โดยพิจารณาสถานีการฝึก 6 สถานี ได้แก่ 1. สถานีศูนย์ประสานงานนานาชาติ (MNCC) 2. สถานีอาคารถล่ม 3. สถานีการกู้ภัยทางน้ำ 4. สถานีฝึกอัคคีภัย 5. สถานีวัตถุอันตราย และ 6. สถานีฝึกการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน และการแสดงอุปกรณ์ในการช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัยของแต่ละประเทศ 3. การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) ระหว่าง 24 กุมภาพันธ์ ถึง 7 มีนาคม 2568 สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ 2025 ยกระดับการฝึกภาคสนามและเพิ่มความซับซ้อนของการปฏิบัติการร่วมที่สามารถควบคุม สั่งการ และอำนวยการปฏิบัติการร่วมได้อย่างแท้จริง ภายใต้แนวความคิดการฝึกการปฏิบัติการร่วม/ผสม ในทุกมิติ (Combined Joint All Domain Operations : CJADO) และการยิงข้ามมิติ (Cross Domain Fires) ให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับปัญหาฝึกในมิติต่าง ๆ ผ่านการอำนวยการยุทธ์ โดยศูนย์ประสานผลการปฏิบัติการในทุกมิติ (All Domain Effects Coordination Center : ADECC) มีการจัดตั้งศูนย์ประสานฯ ณ สโมสรร่วมเริงไชย กองทัพภาคที่ 2 เน้นการเชื่อมโยงข้อมูลจาก Sensors การ Tracking ของหน่วยต่าง ๆ ในกิจกรรม CJADO และการ Simulations เพื่อใช้แสดงภาพสถานการณ์ร่วม (Common Operation Picture : COP) . การฝึกร่วม/ผสม คอบร้าโกลด์ 2025 นอกจากจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพล ที่เข้าร่วมการฝึกในส่วนของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศ โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการความชำนาญ และเทคโนโลยีทางทหาร รวมทั้งเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับกำลังพลของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศ ในการปฏิบัติการร่วมและผสมแล้ว ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐอเมริกาและไทยในการเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศที่ร่วมการฝึกฯ ในด้านการวางแผนและปฏิบัติการร่วม/ผสม สร้างสัมพันธภาพกับประเทศที่ร่วมการฝึกฯ และเพิ่มพูนความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกันผ่านหลากหลายกิจกรรมในทุกด้านรวมถึงการตอบสนองต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ และภัยคุกคามทางไซเบอร์ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างทหารไทย และทหารมิตรประเทศ กับประชาชนในพื้นที่การฝึกฯ ตลอดจนทักษะและมุมมองด้านวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่แข็งแกร่งต่อไป
มณฑลทหารบกที่ 21 ค่ายสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา 30000
044-255530 ต่อ 22530 ทบ.22530
info@example.com
© MTB21. All Rights Reserved. Design by ส.อ.มังกร บาลี